วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning)

 พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง)

1. ความเป็นมาของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

          การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานพัฒนาขึ้นจากแนวคิดวิธีสอนแบบแก้ปัญหา จากแนวคิด “การเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเอง” (Learning by Doing) โดยนักการศึกษาชาวอเมริกัน John Dewey (อังคณา ตุงคะสมิต, 2559)

การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลาย ค.ศ.1969 โดยคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Faculty of Health Sciences) ของมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (McMaster University) ประเทศแคนาดา โดยเริ่มใช้กับนักศึกษาแพทย์ฝึกหัด หลังจากนั้นได้ขยายไปสู่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง ส่วนใหญ่นำไปใช้กับหลักสูตรของนักศึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้เรียนสาขาการแพทย์นั้นต้องใช้ทักษะวิเคราะห์ปัญหาทางการรักษาสูง ต่อมาในปี ค.ศ.1890 การจัดการเรียนรู้แบบนี้ได้ขยายไปสู่สาขาอื่น อาทิ สาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้มีการนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตรสาขาต่าง ๆ อีกด้วย (ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ, 2548)

2. แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

Hmelo and Evenson (2000 อ้างถึงใน บุญนำ อินทนนท์2551) กล่าวว่า การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม (Constructivist) ซึ่งมีรากฐานมาจากทฤษฎีการเรียนรู้ของ Piaget และ Vygotsky ที่มีการเชื่อว่า การเรียนรู้เป็นการพัฒนาทางสติปัญญาที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง กระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองนั้นเกิดจากการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และเกิดจากการซึมซับหรือดูดซึมประสบการณ์ใหม่ พร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างสติปัญญาให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่นอกจาก นั้นยังมีทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการค้นพบของบรูเนอร์ซึ่งเชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงมาจากการค้นพบของแต่ละบุคคล โดยผ่านกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ในกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน เมื่อผู้เรียนเผชิญกับปัญหา ที่ไม่รู้ทำให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญหาขึ้นและผลักดันให้ผู้เรียนไปแสวงหาความรู้และนำความรู้ใหม่มาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมเพื่อแก้ปัญหา

          มัณฑรา ธรรมบุศย์ (2545) กล่าวว่า แนวคิด/ทฤษฎีที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน มีดังนี้

1) ทฤษฎีสร้างสรรค์นิยม (Constructivist Learning Theory) เกิดจากการทำงานและการค้นพบของเพียเจต์ (Jean Piaget) ที่เชื่อว่าคนเราทุกคนตั้งแต่เกิดมาพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่ จนเกิดการเรียนรู้และเกิดการพัฒนาทางสติปัญญา เมื่อประสบปัญหาบุคคลจะพยายามปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุลด้วยกระบวนการ 2 ประการคือ การจัดและรวบรวม (Organization) และการปรับตัว (Adaptation) ซึ่งการพัฒนาทางสติปัญญาของคนมีลักษณะแตกต่างกันตามช่วงอายุที่แตกต่างกัน เป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามลำดับขั้น ผู้เรียนในวัย 12 ปีขึ้นไปจะมีพัฒนาการเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ซึ่งคิดหาเหตุผลเชิงนามธรรมได้  

2) ทฤษฎีพัฒนาการเรียนรู้ (Cognitive Development Theory) ซึ่ง Vygotsky ได้อธิบายถึงพัฒนาการทางสติปัญญาว่าเป็นคุณลักษณะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญกับองค์ประกอบภายในทั้งทางชีวภาพและจิตใจ

          รัชนีกร หงส์พนัส (2547) กล่าวว่า โดยทั่วไปการเรียนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน มีแนวคิดบนพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิทยาพุทธิปัญญานิยมเป็นการเรียนรู้โดยเน้นการใช้กระบวนการคิด ความเข้าใจ การรับรู้สิ่งเร้าที่มากระตุ้นผสมผสานกับประสบการณ์เดิมในอดีต ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งผสมผสานระหว่างประสบการณ์ปัจจุบันกับประสบการณ์ในอดีตโดยอาศัยกระบวนการทางปัญญาเข้ามามีอิทธิพลในการเรียนรู้

3. ความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

             Barrows and Tamblyn (1980) กล่าวว่า เป็นการเรียนรู้ที่เป็นผลของกระบวนการทางานที่มุ่งสร้างความเข้าใจและหาทางแก้ปัญหา ตัวปัญหาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเรียนรู้ และเป็นตัวกระตุ้นต่อไปในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยเหตุผล และการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการเพื่อสร้างความเข้าใจในตัวปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหา

             Boud and Feletti  (1996) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานว่า เป็นวิธีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอนที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นและเน้นที่กิจกรรมของนักศึกษา PBL ไม่ใช่วิธีการเรียนการแก้ปัญหาที่เพิ่มเข้าไปในหลักสูตรเดิม อย่างง่ายเป็นวิธีที่จัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้เกิดขึ้น โดยอาศัยปัญหาจริงที่เป็นจริงในการปฏิบัติของวิชาชีพนั้นเป็นตัวแกน

             ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ (2538) ได้ให้คำนิยามของ การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก ว่า การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก เป็นวิธีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นและเน้นที่กิจกรรมของนักศึกษา PBL ไม่ใช่วิธีการเรียนการแก้ปัญหา โดยเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรเดิมอย่างง่ายๆ แต่เป็นวิธีที่จัดหลักสูตรให้มีกิจกรรมการเรียนรู้เกิดขึ้นโดยอิงอาศัยปัญหาจริงที่เป็นจริงในการปฏิบัติการของวิชาชีพนั้นเป็นตัวแกน

             มัณฑรา ธรรมบุศย์ (2545) ได้สรุปความหมายว่า การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เกิดจากแนวคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์นิยม โดยให้นักเรียนสร้างความรู้ใหม่ จากการใช้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นบริบทของการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์และคิดแก้ปัญหา รวมทั้งได้ความรู้ตามศาสตร์ในสาขาวิชาที่ตนศึกษา การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจึงเป็นผลมาจากกระบวนการทางานที่ต้องอาศัยความเข้าใจแก้ปัญหาเป็นฐาน

          อังคณา ตุงคะสมิต (2559) สรุปความหมายของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานไว้ว่า เป็นการจัดสภาพการณ์การเรียนการสอนที่ใช้ปัญหา สถานการณ์ที่เป็นอยู่ตามสภาพจริง ปัญหาที่พบบ่อย ปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน หรือความเดือดร้อนต่าง ๆ รวมไปถึงข่าว บทความ สถานการณ์ให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดเป็นตัวกระตุ้นในการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาด้วยเหตุผล โดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและรู้จักการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม เป็นการเรียนรู้ที่นักเรียนเรียนรู้จากการเรียน (Learn to learn) โดยนักเรียนจะทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยผู้สอนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ปัญหาที่กำหนดขึ้นเป็นเครื่องมือที่จะนำผู้เรียนไปสู่การแสวงหาความรู้ ซึ่งผู้เรียนจะได้เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาจริง หรือใกล้เคียงมากที่สุด ซึ่งกระบวนการแสวงหาความรู้โดยใช้ปัญหาเป็นเครื่องมือนี้ จะนำผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้ทักษะและคุณลักษณะที่ดีโดยอัตโนมัติ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะมุ่งพัฒนาผู้เรียนในด้านทักษะการเรียนรู้มากกว่าการเรียนรู้ในเนื้อหาสาระที่ผู้เรียนจะได้มาและพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้โดยชี้นำตนเองได้

อานุภาพ เลขะกุล (2551) กล่าวว่า การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานจะเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนไม่ใช่ผู้สอน ผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบโจทย์ปัญหาที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ จัดบรรยากาศการเรียนรู้และเตรียมทรัพยากรการเรียนรู้ (learning resource) ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ๆ โดยผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (facilitator)   

4. ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

Barrows and Tamblyn (1980) กล่าวถึงลักษณะของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานมีลักษณะดังนี้

 1) ปัญหาจะถูกเสนอให้นักเรียนเป็นอันดับแรกในขั้นตอนของการเรียนรู้

 2) ปัญหาที่ใช้ในการเรียนรู้จะเป็นปัญหาที่เหมือนกับปัญหาที่นักเรียนสามารถพบในชีวิตจริง

 3) นักเรียนจะทำงานเป็นกลุ่มในการแก้ปัญหาโดยมีอิสระในการแสดงความสามารถในการให้เหตุผลการประยุกต์ใช้ความรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเองที่เหมาะสมกับขั้นตอนของการเรียนรู้ในแต่ละขั้น

 4) เป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองที่มีขั้นตอนในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นแนวทางในการกำหนดกระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหา

 5) ความรู้และทักษะที่ต้องการให้นักเรียนได้รับจะเกิดหลังการแก้ปัญหาหรือการทำงานที่ใช้ความรู้และทักษะเหล่านั้น

 6) การเรียนรู้จะประกอบด้วยการทำงานในการแก้ปัญหาและการศึกษาด้วยตนเองโดยมีลักษณะที่บูรณาการทั้งความรู้ที่นักเรียนมีและทักษะกระบวนการเข้าด้วยกันลักษณะของปัญหาที่ดี

อานุภาพ เลขะกุล (2551) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานไว้ดังนี้

1) ใช้ปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงเป็นตัวกระตุ้นหรือจุดเริ่มต้นในการแสวงหาความรู้

2) การบูรณาการเนื้อหาความรู้ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น

3) เน้นกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ

4) เรียนเป็นกลุ่มย่อย โดยมีครูหรือผู้สอนเป็นผู้สนับสนุนและกระตุ้น ผู้เรียนต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในกลุ่ม

5) เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตนเองหรือกลุ่มตั้งไว้

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2550) การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐานสิ่งสำคัญที่สุดคือปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ลักษณะสำคัญของปัญหาคือ

1) เกิดขึ้นในชีวิตจริงและเกิดจากประสบการณ์ของผู้เรียนหรือผู้เรียนอาจมีโอกาสเผชิญกับปัญหานั้น

2) เป็นปัญหาที่พบบ่อยมีความสำคัญมีข้อมูลประกอบเพียงพอสำหรับการค้นคว้า

3) เป็นปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนตายตัวเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนคลุมเครือหรือเรียนเกิดความสงสัย

4) ปัญหาเป็นประเด็นขัดแย้งข้อถกเถียงในสังคมยังไม่มีข้อยุติ

5) ปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายเกิดโทษภัยและเป็นสิ่งไม่ดีหากใช้ข้อมูลโดยลำพังคนเดียวอาจทำให้ตอบปัญหาผิดพลาด

6) เป็นปัญหาที่มีการยอมรับว่าจริงถูกต้องแต่ผู้เรียนไม่เชื่อว่าจริงไม่สอดคล้องกับความคิดของผู้เรียน

7) ปัญหาที่อาจมีคำตอบหรือมีแนวทางในการแสวงหาคำตอบได้หลายทางครอบคลุมการเรียนรู้ที่กว้างขวางหลากหลายเนื้อหา

8) เป็นปัญหาที่มีความยากความง่ายเหมาะสมกับพื้นฐานของผู้เรียน

9) เป็นปัญหาที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ทันทีต้องการการสำรวจค้นคว้าและการรวบรวมข้อมูลหรือทดลองดูก่อนจึงจะได้คำตอบไม่สามารถที่จะคาดเดาหรือทำนายได้ง่ายๆว่าต้องใช้ความรู้อะไรยุทธวิธีในการสืบเสาะหาความรู้จะเป็นอย่างไรหรือคำตอบหรือผลของความรู้เป็นอย่างไร

10) เป็นปัญหาส่งเสริมความรู้ด้านทักษะสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษา

5. ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน

          Barrows & Tamblyn Barrows & Tamblyn (1980) ได้ระบุถึงกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาไว้ดังนี้

1) ทำความเข้าใจกับปัญหาเป็นอันดับแรก

2) แก้ปัญหาด้วยเหตุผลทางคลินิกอย่างมีทักษะ

3) ค้นหาความต้องการการเรียนรู้ด้วยกระบวนการปฏิสัมพันธ์

4) ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

5) นำความรู้ที่ได้มาใหม่มาใช้ในการแก้ปัญหา

6) สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้ว

          Delisle (1997) ได้กำหนดขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ดังนี้

1) ขั้นเชื่อมโยงปัญหา (Connecting with the problem) เป็นขั้นตอนในการสร้างปัญหาเพราะในการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานผู้เรียนจะต้องมีความรู้สึกว่าปัญหานั้นมีความสำคัญต่อตนก่อนครูควรเลือกหรือออกแบบปัญหาให้สอดคล้องกับผู้เรียนดังนั้นขั้นนี้ครูจะสำรวจประสบการณ์ความสนใจของผู้เรียนแต่ละบุคคลก่อนเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกหรือออกแบบปัญหาโดยครูอาจยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขึ้นมาร่วมกันอภิปรายก่อนแล้วครูและนักเรียนช่วยกันสร้างปัญหาที่ผู้เรียนสนใจขึ้นมาเพื่อเป็นปัญหาสำหรับการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานประเด็นที่ครูยกมานั้นจะต้องเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์กับความรู้ในเนื้อหาวิชาและทักษะที่ต้องการให้นักเรียนได้รับด้วย

2) ขั้นจัดโครงสร้าง (Setting up Structure) ประกอบด้วยแนวความคิดต่อปัญหา (Ideas) ข้อเท็จจริงจากปัญหา (Facts) สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม (Learning Issues) และแผนการเรียนรู้ (Action Plan)

3) ขั้นเข้าพบปัญหา (Visiting the Problem) ในขั้นนี้ผู้เรียนจะใช้กระบวนการกลุ่มในการสำรวจปัญหาตามโครงสร้างของการเรียนรู้ในขั้นที่ 2 คือนักเรียนในกลุ่มจะรวมกันเสนอแนวคิดต่อปัญหาว่ามีแนวทางเป็นไปได้หรือไม่ในการแก้ปัญหาจะแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีใดความรู้อะไรที่จะนำมาเป็นฐานของการแก้ปัญหาจากนั้นนักเรียนในกลุ่มจะร่วมกันอภิปรายถึงข้อเท็จจริงที่โจทย์กำหนดให้แล้วกำหนดสิ่งที่ต้องกำหนดเพิ่มเพื่อจะได้นำมาเป็นฐานความรู้ในการแก้ปัญหาพร้อมทั้งกำหนดวิธีการหาความรู้และแหล่งทรัพยากรของความรู้นั้นด้วยโดยเขียนเรียงเป็นข้อๆในข้อหนึ่งๆจะเขียนแต่ละสดมภ์ให้สัมพันธ์กันเมื่อกลุ่มกำหนดทุกหัวข้อเสร็จแล้วกลุ่มจะมอบหมายให้สมาชิกในกลุ่มไปศึกษาค้นคว้าตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้แล้วนำความรู้ที่ไปศึกษามารายงานต่อกลุ่มทำเช่นนี้เรื่อย ๆ จนได้ความรู้เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาในขั้นนี้ผู้เรียนมีอิสระกำหนดในแต่ละหัวข้อครูเพียงแต่สังเกตและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เท่านั้น

4) ขั้นเข้าพบปัญหาอีกครั้ง (Revisiting the Problem) เมื่อกลุ่มได้ไปศึกษาความรู้ตามแผนการเรียนรู้แล้วกลุ่มก็จะร่วมกันสังเคราะห์ความรู้ที่ได้มานั้นว่าเพียงพอที่จะแก้ปัญหานั้นหรือไม่ถ้าความรู้ที่ได้มานั้นไม่เพียงพอกลุ่มก็จะกำหนดสิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมและแผนการเรียนรู้อีกครั้งแล้วทำแผนการเรียนรู้จนกว่าจะได้ความรู้ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาได้ในขั้นตอนนี้นักเรียนในกลุ่มต้องใช้การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากการศึกษาตามแผนการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ความสามารถในการสื่อสารการพูดการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ข้อมูล

5) ขั้นผลิตผลงาน (Producing a Product Performance) ในขั้นนี้ผู้เรียนจะใช้ความรู้ที่ได้ศึกษามาแก้ปัญหาหรือสร้างผลผลิตขั้นสุดท้ายของการเรียนรู้และนำเสนอผลผลิตนั้นให้ชั้นเรียนได้ทราบผลทั่วกัน

6) ขั้นประเมินผลงานและแก้ปัญหา (Evaluation Performance and the Problem) ในการประเมินผลงานของนักเรียนทั้งครูและผู้เรียนจะมีความรับผิดชอบร่วมกันในการประเมินจะประเมินด้านความรู้ทักษะด้านความรู้ได้แก่การแก้ปัญหาการให้เหตุผลการสื่อสารและทักษะทางด้านสังคมได้แก่การทำงานร่วมกันเป็นทีมนอกจากที่จะประเมินนักเรียนแล้วครูยังต้องประเมินปัญหาที่ใช้ในการเรียนรู้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2550ได้กำหนดขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ดังนี้

ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหา เป็นขั้นที่ผู้สอนจัดสถานการณ์ต่าง ๆ กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และมองเห็นปัญหา สามารถกำหนดสิ่งที่เป็นปัญหาที่ผู้เรียนอยากรู้อยากเรียนได้และเกิดความสนใจที่จะต้นหาคำตอบ

ขั้นที่ ทำความเข้าใจกับปัญหา ผู้เรียนจะต้องทำความเข้าใจปัญหาที่ต้องการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนจะต้องสามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาได้

ขั้นที่ 3 ดำเนินการศึกษาค้นคว้า ผู้เรียนกำหนดสิ่งที่ต้องเรียนดำเนินการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองด้วยวิธีการที่หลากหลาย

ขั้นที่ สังเคราะห์ความรู้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อภิรายผลและสังเคราะห์ความรู้ที่ได้มาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

ขั้นที่ สรุปและประเมินค่าของคำตอบ ผู้เรียนแต่ละกลุ่มสรุปผลงานของกลุ่มตนเอง และประเมินผลงานว่าข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด โดยพยายามตรวจสอบแนวคิดภายในกลุ่มของตนเองอย่าอิสระทุกกลุ่มช่วยกันสรุปองค์ความรู้ในภาพรวมของปัญหาอีกครั้ง

ขั้นที่ นำเสนอและประเมินผลงาน ผู้เรียนนำข้อมูลที่ได้มาจัดระบบองค์ความรู้และนำเสนอเป็นผลงานในรูปแบบที่หลากหลาย ผู้เรียนทุกกลุ่มรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาร่วมกันประเมินผลงาน

อังคณา ตุงคะสมิต (2559) ได้กำหนดขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ดังนี้

ขั้นที่ ขั้นกำหนดปัญหา เป็นขั้นที่ผู้สอนหาปัญหาจากสถานการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่จะสอน เช่น ข่าวเหตุการณ์ รูปภาพ คลิปวีดิโอ บทความ สถานการณ์จำลอง บทบาทสมมติ เป็นต้น แล้วใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนสนใจใคร่รู้ ผู้เรียนจะได้แนวทางในการกำหนดปัญหาของตนหรือแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อค้นหาคำตอบต่อไป

ขั้นที่ ขั้นทำความเข้าใจกับปัญหา ในช่วงนี้ควรมีการแบ่งกลุ่มหรืออาจจะแบ่งในขั้นที่ 1 ก็ได้ เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่และเป็นการกำหนดความเจาะจงในการทำงานให้ชัดเจนอเพื่อกำหนดบทบาทตามกระบวนการกลุ่มในการทำงาน ด้วยการวางแผนเพื่อศึกษาความเข้าใจในปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งผู้สอนต้องใช้การตั้งคำถามเพื่อให้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจปัญหาที่สงสัย

ขั้นที่ ขั้นดำเนินการศึกษาค้นคว้า โดยที่ภายในกลุ่มต้องมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการแสวงหา ศึกษาหาคำตอบจากประเด็นข้อสงสัยที่เป็นปัญหาและจากการที่กลุ่มทำความเข้าใจกับปัญหาไปแล้ว

ขั้นที่ ขั้นการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เป็นขั้นที่กลุ่มนำข้อมูลที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ร่วมกันสังเคราะห์ สาระความรู้ที่ได้พร้อมกับสรุปสาระความรู้ให้เป็นความรู้ที่ถูกสกัดเป็นความรู้ที่ถูกสกัดเป็นความรู้ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นมาในลักษณะต่าง ๆ เช่น แผนภูมิ แผนภาพ กราฟฟิค แผนผังความคิด แผ่นพับ เป็นต้น ในส่วนนี้ต้องเน้นย้ำเรื่องความหลากหลายในรูปแบบเพื่อความกระจ่างชัดในผลของการศึกษาค้นคว้า

ขั้นที่ ขั้นสรุปและประเมินคำตอบ ผู้เรียนแต่ละกลุ่มประเมินผลงานกลุ่ม ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานกลุ่มด้านความถูกต้อง ความเป็นไปได้ ความครอบคลุม จนมีความเข้าใจชัดเจนภายในกลุ่ม ผู้สอนควรมีคำถามกระตุ้นเพื่อการตรวจสอบให้อยู่ในกรอบทิศทางที่ต้องการ

ขั้นที่ ขั้นนำเสนอและประเมินผลงาน ทุกกลุ่มนำผลงานที่สร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งผ่านการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มมาแล้ว มานำเสนอในรูปแบบที่หลากหลายต่อชั้นเรียน โดยที่กลุ่มอื่น ๆ ร่วมกันประเมินวิเคราะห์ตามประเด็นที่กำหนดไว้ โดยครูทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มความสามารถ

ภาพที่ 1 ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (อังคณา ตุงคะสมิต, 2559)


เอกสารอ้างอิง

ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์. (2538). การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลักกรุงเทพฯข่าวสารกองบริการการศึกษา.

บุญนำ อินทนนท์. (2551). การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และความสามารถในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนโยธินบำรุง ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ. (2548). สอนอย่างไรให้คิดเป็น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วัฒนาพาณิช จำกัด.

มัณฑรา ธรรมบุศย. (2545). การพัฒนาคุณภาพการเรียนรูโดยใช้ PBL (Problem-Based Learning), วารสารวิชาการ5(2), 11-17.

รัชนีกร หงส์พนัส. (ม.ป.ป.). การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน: ความหมายสู่การเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม. วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์, 26(1), 44-53.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2550). การจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์และที่เน้นการปฏิบัติ. กรุงเทพฯสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ.

อานุภาพ เลขะกุล. (2551). การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning)ค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2563, จาก http://teachingresources.psu.ac.th/psu_articles.php.

อังคณา ตุงคะสมิต. (2559). สังคมศึกษาในโลกอาเซียนขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Delisle, R. (1997). How to Use Problem-Based Learning in the Classroom. Alexandria: Association for Supervision and Curriculum Development.

Barrows, H. S. and Tamblyn, R. M. (1980). Problem-based learning: an approach to medical education. New York : Springer Publishing.

Boud, D. and Feletti, G. (1996). The Challenge of Problem Based Learning. London: Kogan Page.


การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning)

  พิพัฒน์ คุณวงค์ (เรียบเรียง) 1.  ความเป็นมาของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน            การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานพัฒนาขึ้นจ...